Daily News
ถูกตัดจากเสา ! “สีดา” ปราสาทพนมรุ้ง โผล่สหรัฐ นักวิชาการเตรียมทวงคืนพร้อม “ม้าหินทราย”
05:33เจออีกแผ่นหินทรายสลักรูป”นางสีดา”โผล่พิพิธภัณฑ์อเมริกา นักวิชาการยืนยันของปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ คาดถูกตัดจากเสา ร้องทวงคืนพร้อม”ม้าหินทราย”
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ นักวิชาการอิสระ เปิดเผยว่า ตนและนักวิชาการกลุ่ม “สำนึก 300 องค์” พบแผ่นหินทรายสลักรูปสตรียื่นมือในท่ากำลังรับหรือให้ของกับนางบริวาร ปรากฏในเว็บไซต์ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลี (Chong-Moon Lee) ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา กว้าง 29.2 ซม. หนา 17.8 ซม. สูง 73.7 ซม. โดยข้อมูลของทางพิพิธภัณฑ์ระบุอย่างชัดเจนว่าได้มาจากปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อตรวจสอบรูปแบบทางด้านศิลปะเบื้องต้นแล้วสอดคล้องกัน เชื่อว่าเป็นแผ่นหินที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเสาประดับกรอบประตูด้านใดด้าน หนึ่งของปราสาทดังกล่าว สันนิษฐานว่าสตรีในรูปสลักคือนางสีดา โดยภาพสลักนี้เล่าเรื่องมหากาพย์รามายณะ ตอน นางสีดาในอโศกวนา ณ กรุงลงกา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางไปที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เพื่อสำรวจและวัดขนาดเสาทุกต้นเพื่อเทียบเคียงว่ามีต้นใดตรงกับขนาดของแผ่น หินทรายรูปสตรี พบว่ามี 2 ต้น คือ เสาติดผนังด้านทิศเหนือและทิศใต้ แต่เสาทิศใต้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงเหลือเพียงเสาด้านทิศเหนือที่น่าสงสัยว่าเป็นเสาที่ถูกลักลอบตัดแผ่นหิน รูปสตรีออกไป ซึ่งปรากฏว่าเสาดังกล่าวมีร่องรอยถูกตัดหินออกไปจริงตามที่สันนิษฐาน เพราะปัจจุบันมีการนำแผ่นหินใหม่ที่ไม่มีลวดลายใดๆ มาติดตั้งไว้แทน และจากประวัติการบูรณะปราสาทพนมรุ้งเมื่อ พ.ศ.2511 กรมศิลปากรได้เข้ามาในพื้นที่และคัดแยกหินออกมาทดลองประกอบ เมื่อไม่สามารถหาหินก้อนเดิมมาต่อกันได้ จึงได้ใช้หินใหม่เข้ามาประกอบแทนและติดตั้งไปก่อน
“การไปสำรวจที่ ปราสาทพนมรุ้งครั้งนี้ได้ถ่ายภาพเสาดังกล่าว แล้วใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นำภาพแผ่นหินรูปสตรีมาประกอบเข้ากับเสา พบว่าเข้ากันได้ดีทั้งขนาดและลวดลายเหนือศีรษะสตรี ซึ่งเป็นลาย “ก้านต่อดอก” จึงมั่นใจว่าแผ่นหินรูปสตรีที่พิพิธภัณฑ์ในสหรัฐ เคยอยู่ที่ปราสาทหินพนมรุ้งอย่างแน่นอน” นายทนงศักดิ์กล่าว และว่า ลวดลายบนเสาติดกับผนังของปราสาทพนมรุ้งมาจากศิลปะเขมรแบบบาปวน โดยทั่วไปจะเป็นลายสิงห์, หน้ากาลคายก้านต่อดอก แต่สิ่งที่แตกต่างคือที่พนมรุ้ง จะมีภาพสลักเล่าเรื่องแล้วจึงจะเป็นลายก้านต่อดอกขึ้นมา”
นางสาวสายป่าน ปุริวรรณชนะ นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาและวรรณคดีไทย กล่าวว่า รามายณะตอน นางสีดาในอโศกวนานี้ มีเนื้อหาสืบเนื่องมาจากการที่ทศกัณฐ์ลักตัวนางสีดาไป แต่ไม่สามารถล่วงเกินหรือเข้าใกล้ได้ เพราะตัวจะร้อน จึงไม่สามารถพาเข้าไปอยู่ปราสาทได้ ต้องให้อยู่ในสวน ซึ่งรามเกียรติ์ฉบับของไทยให้เหตุผลว่าเพราะนางสีดามีความซื่อสัตย์ต่อพระรา ส่วนในรามายณะ ระบุว่าเป็นเพราะทศกัณฐ์ถูกพระอิศวรสาป สำหรับแผ่นหินสลักที่มีภาพสตรีกำลังรับหรือให้ของแก่บริวารนั้น หากสตรีดังกล่าวคือนางสีดา บริวารคงเป็นนางตรีชฎา ชายาของพิเภก อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช่สีดาอาจเป็นยักษิณีเหนี่ยวกิ่งไม้กับคนแคระบริวารก็ได้
รศ.ดร. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ได้เห็นแผ่นหินสลักดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าอาจมาจากปราสาทพนมรุ้งจริง ซึ่งมีภาพสลักที่มีความคล้ายคลึงกันนี้อยู่ทางทิศตะวันออกด้วย สำหรับภาพรวมกระแสการทวงคืนในรอบปีที่ผ่านมา ถือเป็นข้อดีที่มีนักวิชาการอิสระซึ่งสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วและ ทันต่อเหตุการณ์มากกว่าผู้ที่อยู่ระบบราชการ และสามารถกระตุ้นภาคประชาชนได้เป็นอย่างดี ถือว่ามาถูกทาง แต่อาจต้องรอจังหวะให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจเคลื่อนไหวร่วมกัน
“กรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่าโบราณวัตถุเคยอยู่ที่เมืองไทย เช่น ทับหลังปราสาทหนองหงส์ ซึ่งมีภาพถ่ายเก่า ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมในการทวงคืน เพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทย ยกเว้นแต่เป็นการได้ไปอย่างถูกต้อง เช่น ในยุคหนึ่งประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับอีกประเทศหนึ่งแล้วมีการมอบของ เป็นบรรณาการ อย่างนี้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าได้ไปจากการลักเล็กขโมยน้อยนั้นไม่ถูกต้อง ส่วนความคิดที่ว่าอยู่พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศได้รับการดูแลที่ดีกว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น ของเคยอยู่ตรงไหน ก็ควรได้อยู่ตรงนั้นใครสนใจควรมาดูที่แหล่งจึงจะถูก”
จากซ้าย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ -แฟ้มภาพ
ม้าหินทราย จากปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชง-มูน ลี (Chong-Moon Lee) ในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา
ทีมา : http://www.matichon.co.th
0 comments